ประวัติความเป็นมาของอำเภอปลาปาก

                สถานที่ตั้งรกรากของชาวปลาปาก นับว่าเป็นชนเผ่าที่น่าสนใจมิใช่น้อยเลยทีเดียว   ความเป็นมาของบรรพบุรุษของชาวปลาปากเดิมมีถิ่นที่อยู่ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่เมืองมหาชัย(อยู่ในแขวงคำม่วน) ในยุคสมัยเมื่อพระยากู่แก้วเป็นเจ้าเมือง ได้ถูกพวกจีนฮ่อรุกราน เจ้าเมืองมหาชัยจึงได้นิมนต์พระหลวงพ่อสมภารและพระน้อยชายชื่อเพียรหาญ อพยพพลเมืองจำนวนหนึ่งข้ามมาฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในเขตแดนของประเทศไทย การเดินทางครั้งนั้นได้มาขออาศัยอยู่กับเจ้าพรหมมา ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครพนมในขณะนั้น    เจ้าพรหมมานี้เป็นบุตรของเจ้าเมืองมหาชัย เมื่ออพยพมาถึงบริเวณที่เรียกว่า  ทามแคม  ซึ่งเป็นบริเวณห้วยบังขนังในปัจจุบัน  เห็นว่าเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเผือก มัน กลอย ปลาและมีแหล่งน้ำเหมาะสม  บริบูรณ์  สำหรับการทำมาหาเลี้ยงชีพ  ทั้งทำเลก็กว้างขวางจึงได้พากันสำรวจ และตั้งที่พักอาศัย แต่เนื่องจากทามแคมเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูฝน จึงอพยพผู้คน ขึ้นไปสร้างบ้านเรือนและวัดอยู่บนที่เนินสูงใกล้เคียงกับทามแคมนั้น    ซึ่งต่อมามีหลักฐานพบว่าบริเวณนั้นเป็นบ้านเรือนร้างว่างเปล่าไม่มีผู้อาศัยอยู่ วัดก็ทรุดโทรมเก่าแก่มากมีสภาพปรักหักพัง มีพระทองสัมฤทธิ์  และพระพุทธรูปเก่าแก่องค์เล็ก ๆ จำนวนหนึ่ง  ซึ่งยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ และในวัดก็มีป้ายเป็นตัวอักษรลาวเขียนด้วยสีดำอ่านแล้วแปลความได้ว่า วัดบ้านนาบุ่งทุ่งปลาเว้า   

                วัดบ้านนาบุ่งทุ่งปลาเว้านี้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีบุญเรืองเนื่องจากประชาชนได้มากราบไหว้บูชาพระทองสัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัดนาบุ่งทุ่งปลาเว้ามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น    และต่อมาในสมัยพระอาจารย์มหาแผลงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม  จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดศรีบุญเรืองเป็นวัดคณิศรธรรมิการาม ในปัจจุบัน   (จากหนังสือของดีศรีปลาปาก :  หน้า  28)

                พระทองสัมฤทธิ์ที่กล่าวถึงในตำนานนี้มีอยู่จริง และประดิษฐานอยู่ที่วัดคณิศรธรรมิการาม

                คำว่า เว้า  นี้เป็นภาษาท้องถิ่นซึ่งความหมายก็คือ พูด     ตำนานเกี่ยวกับ   ปลาเว้า   มีประวัติความเป็นมาว่าบริเวณนี้ในฤดูฝนมีน้ำหลาก จึงทำให้มีปลาชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายปลาตะเพียนทองมารวมอยู่เป็นจำนวนมาก และส่งเสียงร้องอึงคะนึงคล้ายเสียงคนพูดกัน ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานบริเวณแห่งนี้ว่า ปลาเว้า  (ปลาพูด)  คำว่า ปาก  นี้ในภาษาถิ่นอีสานเป็นคำกริยาหมายถึง  พูด  ดังนั้น  ปลาปากก็คือ  ปลาพูด  หรือ ปลาเว้านั่นเอง  ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อว่า  ปลาปากตั้งแต่นั้นมา

 

 

ประวัติการตั้งเป็นอำเภอปลาปาก

                 ปลาปากเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองนครพนม   ต่อมาเมื่อวันที่  21  สิงหาคม   พ.ศ.  2507    ทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ    ประกอบด้วย    3  ตำบล  คือ  ตำบลปลาปาก   ตำบลหนองฮี      และตำบลกุตาไก้ได้แต่งตั้งร้อยโทวิชัย บุญรัตนผลิน  รักษาราชการในฐานะปลัดอำเภอหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอปลาปาก     ต่อมาเมื่อวันที่  17  พฤศจิกายน  2514   จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอปลาปาก    ประกอบด้วย  8  ตำบล      ตำบลปลาปาก  ตำบลหนองฮีตำบลกุตาไก้     ตำบลนามะเขือ   ตำบลโคกสูง  ตำบลมหาชัย  ตำบลโคกสว่าง และตำบลหนองเทาใหญ่ (ตำบลหนองเทาใหญ่ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเมื่อปี  2521)               

สถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอปลาปาก

สถานที่น่าท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ  ของอำเภอปลาปากมีดังนี้

                1)   วัดธาตุมหาชัย   ตั้งอยู่ที่บ้านมหาชัย  หมู่ที่ ๒  ตำบลมหาชัย   เป็นทีประดิษฐานขององค์พระธาตุมหาชัย  ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนมและชาวอำเภอปลาปากให้ความเคารพนับถือ   เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันต์  โดยมีหลวงปู่คำพันธ์  โฆษปัญโญ  อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัยเป็นผู้นำในการก่อสร้างองค์พระธาตุ   ภายในมีพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้สะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย   ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ  ในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุมหาชัย

 

                

                2)   ศูนย์วัฒนธรรมวัดคณิศรธรรมิการาม

                        ตั้งอยู่ที่บ้านปลาปากหมู่ที่  13  ตำบลปลาปาก   แต่ก่อนนี้เป็นพระอุโบสถที่เก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก  ภายในมีพระพุทธรูปศิลปะสมัยเชียงแสนหลายองค์   ปัจจุบันนี้พระอุโบสถหลังเก่าได้รื้อเนื่องจากทรุดโทรมมาก  แต่พระพุทธรูปก็ยังเก็บไว้ภายในวัด   และได้สร้างศูนย์ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมขึ้นมาแทนที่บริเวณดังกล่าว   คือ หัตถกรรมการทอผ้ามุก  โดยมีพิพิธภัณฑ์อยู่ภายในอาคารดังกล่าวด้วยมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของสมาชิกศูนย์ฯ    พระครูสุนันท์ธรรมสถิตเจ้าอาวาสวัดคณิศรธรรมิการามและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปลาปากเป็นผู้ดำริในการจัดตั้งและผู้ดูแล  พระครูสุนันท์ธรรมสถิตนี้ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดในสาขาภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการสวัสดิการและธุรกิจชุมชน  และได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดนครพนม ประจำปี  2547

 

พระครูสุนันท์ธรรมสถิตย์เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน

 

 

                3)   ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านทันสมัยในพระบรมราชินูปถัมภ์

                       ตั้งอยู่ที่บ้านทันสมัย  หมู่ที่ 7  ตำบลมหาชัย   มีการส่งเสริมอาชีพการทอผ้า  ไหม ผ้าพื้นเมืองต่าง ๆ  และยังเป็นที่ตั้งของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินาถ  เพื่อเน้นการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร  หยุดการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

                4)   สวนรุกขชาติวังปอพาน

                       ตั้งอยู่ริมถนนสายปลาปาก กุรุคุ   ห่างจากตัวอำเภอปลาปากประมาณ  3      กิโลเมตร  มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  เรือนแพ  และซุ้มที่นั่งพักผ่อนคลายเครียด   บรรยากาศดีสวยงามและเป็นธรรมชาติ

                5)   วัดป่ามหาชัย  (อรัญญคาม)   เป็นสถานที่สำหรับการอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแห่งหนึ่งประจำจังหวัดนครพนม  เป็นสถานที่สงบเงียบ  ร่มรื่น  มีศาลาโบสถ์ที่งดงาม

        

 

วัดป่ามหาชัย (อรัญญคาม)  ตำบลมหาชัย  สถานที่ปฏิบัติธรรม

 

ของดีศรีปลาปาก

 

ประวัติการสร้างพระธาตุมหาชัย

สถานที่ตั้ง  

                วัดธาตุมหาชัย  บ้านมหาชัย  ตำบลมหาชัย  อำเภอปลาปาก  จังหวัดนครพนม      

ความเป็นมา

                พระธาตุมหาชัยองค์เดิม สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยดำริของหลวงปู่ หลังจาก ที่หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมมาสร้างบ้านมหาชัย และสร้างวัดโฆษการาม ต่อมาจึงดำริที่จะสร้างพระธาตุขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวพุทธ โดยได้รับความร่วมมือจากญาติโยม ชาวตำบลมหาชัยทุกหมู่บ้านได้นำเอาหินลูกรัง และดินมากองรวมกันให้เป็นเนินสูงเพื่อจะให้เป็นฐานพระธาตุ จนได้เนินสูงพอสมควร ต่อมาได้มีหน่วยงานของทางราชการมาช่วย เช่น หน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ได้นำรถแทรกเตอร์มา ช่วยทำฐานพระธาตุเพียงหยาบๆ จนได้ฐานพระธาตุกว้าง 17  เมตร ยาว 23  เมตร  สูง 4.50  เมตร การสร้างพระธาตุหลวงปู่ ได้ดำเนินการสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป อาศัยกำลังจากญาติโยมและพระภิกษุสามเณรในวัด

                พ.ศ. 2512 ศิษย์หลวงปูคนหนึ่งคือพระมหาเฉวต วชิรญาโณ จำพรรษาอยู่ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาวได้เดินทางมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่และได้นำเอาพระอรหันตสารีริกธาตุ ของพระอัญญาโกณฑัญญะปฐมสาวก ถวายแด่หลวงปู่ เพราะเลื่อมใสเห็น ว่าหลวงปู่กำลังสร้าง พระธาตุ

                พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระธาตุขึ้น โดยได้อาราธนาพระเทพรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองได้เชิญ พลตรี ยง    ณ นคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน แต่ท่านผู้ว่าฯ ติดราชการจึงให้พันตรี อรุณ สังฆบรรณ ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอปลาปาก มาทำหน้าที่เป็นประธานแทน เมื่อเสร็จจากพิธิวางศิลาฤกษ์แล้ว ได้ลงมือก่อสร้างองค์พระธาตุโดยพระมหาเฉวต วชิรญาโณ เป็นช่าง และนายทองดี  ศรีสุวงค์ เป็นผู้ช่วย ได้ก่อสร้างขึ้นมาจนเป็นพระธาตุรูป  8  เหลี่ยม สูงประมาณ 7  เมตร ในการก่อสร้างองค์พระธาตุได้อาศัยกำลังทรัพย์จากญาติโยมชาวตำบลมหาชัย และตำบลใกล้เคียงได้บริจาคในรูปปัจจัยบ้าง วัสดุก่อสร้างบ้าง เช่น หิน ซึ่งถากเป็นแผ่นๆ กว้าง 15  เซนติเมตร ยาว 30  เซนติเมตร  หนา  10  เซนติเมตร

                พ.ศ. 2515 นายพิศาล  มูลศาสตร์สาทร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมสมัยนั้น เดินทางมาตรวจเยี่ยมชุดคุ้มครองตำบลมหาชัย ท่านได้เห็นพระธาตุ และเห็นความพร้อมเพรียงของชาวบ้านที่ช่วยกันก่อสร้างพระธาตุ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้เข้ามากราบนมัสการ หลวงปู่และ ได้ปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ ต่อมาท่านได้ให้นายช่างหน่วยเร่งรัดพัฒนาชนบทเขียนแบบแปลนพระธาตุขึ้นนำเสนอหลวงปู่ และได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระ ธาตุตามแบบแปลนจนเป็นผลสำเร็จสวยงาม

                พ.ศ. 2517 พลตำรวจโทวิศิษฐ์  เดชกุญชร (ยศในขณะนั้น) ราชองครักษ์ในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมค่ายคุ้มครองตำบล (ช.ค.ต.) และชุดปฏิบัติการช่วยเหลื่อประชาชน (ป.ช.ป.) ท่านได้มาเห็นองค์พระธาตุก็เกิดความเลื่อมใส ได้ถามประวัติความเป็นมาขององค์พระธาตุจนถึงการก่อสร้าง และกำหนดวันแล้วเสร็จ หลังจากนั้นท่านได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อวันที่  25  พฤษภาคม  พ.ศ.  2518 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุมหาชัย และทรงเวียนเทียนรอบ องค์พระธาตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วย ข้าราชบริพาร และพสกนิกรฯ

                ข้อมูลจำเพาะ (พระธาตุองค์เดิม)

                ฐานและองค์พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม ฐานพระธาตุกว้าง  32  เมตร  ยาว  32  เมตร มี  2  ชั้น ชั้นล่างสูง  2.50  เมตร  ชั้นบนสูง  2  เมตร ฐานพระธาตุภายนอกใช้หินแม่รังแผ่นโต ๆ นำมาถากเป็นแผ่นจำนวนทั้งหมด  5,320  แผ่น  แต่ละแผ่นกว้าง  15  ซ.ม.  ยาว  30  ซ.ม.  หนา  10  ซ.ม.  องค์พระธาตุสูง  10.50  เมตร รวมทั้งฐานสูง  15.00  เมตร  รวมทั้งฉัตร  สูง  16  เมตร

                ประวัติองค์พระธาตุองค์ปัจจุบัน

                ในปี  พ.ศ.  2536  หลวงปู่ได้ดำริที่จะสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิม จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังเพื่อขออนุญาตสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ  50  ปี ในปี พ.ศ.  2539 หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นในลักษณะองค์เดิม คือมีรูปทรงแปดเหลี่ยม โดยครอบองค์เดิม  ระยะห่างจากองค์เดิมกว้าง  1  เมตร พระธาตุที่สร้างครอบนี้สูงรวมฐาน  37  เมตร ที่คงรูปทรงแปดเหลี่ยมนั้นมีความหมายเป็นปริศนาธรรมของหลวงปู่  คือ  พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์แปด และที่สูง  37  เมตร หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้  37  ประการ (โพธิปักขิยธรรม  37  ประการ)   มรรค  8  มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ, สัมมาวาจา เจรจาชอบ, สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ, สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ,สัมมาสติ ระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ    โพธิปักขิยธรรม  37  ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4 , อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7 , มรรคมีองค์ 8 ,องค์พระธาตุมหาชัยองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมนั้น  สร้างเสร็จเมื่อ  พ.ศ. 2539  พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ผู้แทนพระองค์เสด็จยกฉัตรพระธาตุเมื่อวันพฤหัสบดีที่  14  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2539

พิพิธภัณฑ์วัดคณิศรธรรมมิการาม

        ตั้งอยู่ที่วัดคณิศรธรรมมิการาม บ้านปลาปาก  หมู่ที่  2  อยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวอำเภอ  เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดนครพนม  ประจำปี  2547  โดยมีท่านพระครูสุนันท์ธรรมสถิต  เป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้ดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์  แต่เดิมวัตถุโบราณที่จัดไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก  จึงได้รื้อและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกับศูนย์ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน  โดยมีกลุ่มแม่บ้านทอผ้ามุกทำการในอาคารแห่งนี้เป็นประจำ  และเปิดให้ชมทุกวัน

                        สิ่งที่นำเสนอในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีทั้งพระพุทธรูป  เหรียญพระ   เงินโบราณสกุลต่าง ๆ ทั้งเหรียญกษาปณ์ และธนบัตร  ไหโบราณ   เครื่องใช้ของคนสมัยโบราณ    มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คือ  พระทองสัมฤทธิ์เก่าแก่อยู่ที่นี่ด้วย